วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

ไหว้ พระธาตุประจำปีเกิด เสริมดวงปี 2558

พระธาตุประจำปีเกิด เสริมดวงปี 2558

         ท่านทราบหรือไม่ว่า การเกิดในปีนักษัตรทั้ง 12 ปีนักษัตรนั้น จะมีพระธาตุประจำปีเกิด ที่ท่านควรไปกราบไหว้ เพื่อเสริมดวงสักครั้งหนึ่งในชีวิต และตามความเชื่อเรื่องพระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดนี้ ไม่ใช่ข้อวัตรปฏิบัติหรือปรากฏในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา แต่เป็นคติความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา เรามาดูกันว่า ปีนักษัตร แต่ละปี 

พระธาตุประจำปีเกิด เสริมดวงปี 2558


พระธาตุประจำปีเกิด 12 ปีนักษัตร ( ความสำคัญ )

          บุคคลซึ่งเกิดในปีนักษัตรใดก็ตาม สมควรที่จะหาโอกาสไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน ให้ได้อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต มีอานิสงส์สูงและจะทำให้มีอายุยืนนาน รวมถึงเชื่อว่าหากสิ้นชีพไป ดวงวิญญาณจะได้กลับไปยังพระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อนไปในทุคคติภพอื่นๆ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เองที่แพร่หลายไปสู่หลายๆพื้นที่ของประเทศ ก่อให้เกิดคติความเชื่อเช่นเดียวกันนี้ แต่จะแตกต่างกันบ้าง ในส่วนของเจดีย์ประจำปีนักษัตรต่างๆ อีกทั้งยังพบว่ามีคติความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำวันเกิด ซึ่งเป็นเจดีย์ที่อยู่ในเขตจังหวัดนครพนมเพียงจังหวัดเดียวอีกด้วย

1. ปีชวด ( หนู )

พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่
พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่
ปีชวด เป็นปีแรกของปีนักษัตร มีสัญลักษณ์เป็น หนู พระธาตุประจำปีเกิดนี้ จะได้พระธาตุศรีจอมทอง แห่งวัดพระธาตุศรีจอมทอง ตั้งอยู่ ณ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
พระธาตุนี้มีลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเชียงใหม่ แม้จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่โตนักแต่ก็งดงาม นอกจากนี้ยังมีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาลจนปัจจุบัน
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
นะโมพุทธายะ นะมามิ ติโลกะโมลี
โลหะกูเฎ ปะติฎฐิตัง ปูชิตัง สัพพะโลเกหิ
กิตติมันตัง มะโนหะ รัง อะหัง วันทามิ
อสัพพะทา อัง คะวะเย ปุเรรัมเมิโกวิลา
รัคคะปัพ พะเต สะหิเหมะคูหา คัพเภ
ทักขิณะโมลี ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะทา


2. ปีฉลู ( วัว )

พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
ปีฉลู มีลักษณะทางสัญลักษณ์เป็นรูป วัว พระธาตุประจำปีเกิดปีนี้ คือพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
พระธาตุแห่งนี้เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมสกุลช่างลำปาง ปรากฏอิทธิพลไทลื้อ วัดพระธาตุลำปางหลวงเลื่องลือในปาฏิหาริย์ของพระธาตุที่สะท้อนเป็นภาพกลับหัวในพระวิหารและมณฑป
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง
ปะติฎฐาสัมภะ กัปปะปุเร เทเวนะ
คุตตา อุตตะราภิทัยยา นะมามิหันตัง
วะระชินะธาตุง ฐะเปติ มะหา ฐาเน
เจติยัง ปูชิตา นะเะเทเวหิ
อะหัง วันทามิ ธาตุโย

3. ปีขาล ( เสือ )

พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ปีขาล มีสัญลักษณ์เป็นรูป เสือ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุช่อแฮ แห่งวัดพระธาตุช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นพระธาตุสำคัญและเป็นพระธาตุประจำเมือง
มีลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาสกุลช่างเมืองแพร่ สกุลช่างนี้หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบอิทธิพลศิลปะสุโขทัยแอบแฝงอยู่ ลักษณะทางภายภาพจะมีความชะลูดประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งเป็นเนินเขา จะทำให้คนเห็นได้แต่ไกล
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
โกเสยยะ ธะชัคคะ
ปัพพะเต สัตตะมะโนรัมเม
พุทธะ เกสาธาตุ ปะติฎฐิตา
อะหัง วันทามิ สัพพะทา
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิสัพพะโส

4. ปีเถาะ ( กระต่าย )

วัดพระธาตุแช่แห้ง กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน 
วัดพระธาตุแช่แห้ง กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน
พระธาตุแช่แห้ง จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง
ปะติฎฐิตา นันทะกัปปะเก
ปุเร เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุง
จิรัง วันทามิหันตัง ชินะธาตุโย
โส ตะถาคะตัง
อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ทูระโต

5. ปีมะโรง ( งูใหญ่ )

พระธาตุพระสิงห์ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พระธาตุพระสิงห์ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
ปีมะโรง มีสัญลักษณ์เป็น งูใหญ่ อันหมายถึงพญานาคหรือมังกร พระธาตุประจำปีเกิดนี้จะได้แก่ พระธาตุพระสิงห์ แห่งวัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระสิงห์เป็นวัดใหญ่และสำคัญมากที่อยู่กลางเมือง สถาปัตยกรรมภายในวันนี้จัดว่างดงามมาก ด้วยเป็นฝีมือช่างหลวงของนครเชียงใหม่ พระธาตุจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก และตั้งหลบอยู่ภายใน มีการตกแต่งน้อย ถือว่าเป็นความงามที่เรียบง่าย
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
อิติ ปะวะระสิหิงโค อุตตะมะยโสปิ
เตโข ยัตถะ จิตโตโส สักกาโร
อุปาโท สะกาละพุทธะสาสะธัง โชตะยันโตวะ
ทีโป สุระนะเรหิ มะหิโต ธะระมาโนยะ
พุทโธติ นะมามิ สิหิงคะพิมพัง
สุวัณณาภิรัมมัง ลังกาชาตัง

6. ปีมะเส็ง ( งูเล็ก )

พระมหาเจดีย์พระพุทธคยา วัดอนาลโย จ.พะเยา
พระมหาเจดีย์พระพุทธคยา วัดอนาลโย จ.พะเยา
ปีมะเส็ง มีสัญลักษณ์เป็น งูเล็ก สำหรับพระธาตุประจำปีเกิดนั้นอยู่ไกลนัก นั่นคือพระมหาเจดีย์พระพุทธคยา ประเทศอินเดีย อันเป็นปูชนียสถานที่ประดิษฐานอยู่ไกล
คนโบราณจึงใช้เจดีย์เจ็ดยอดเมืองเชียงใหม่แทน และภายหลังมีการจำลองพระมหาเจดีย์ฯ มาสร้างขึ้นที่วัดอนาลโย จังหวัดพะเยา ซึ่งทำให้คนที่มีศรัทธาจะไปนมัสการทำได้ง่ายขึ้น
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
ปะฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยัง
อะนิมิสสะกัง ตะติยัง จังกะมะ
เสฏฐัง จะตุตถะกัง ระตะนะฆะรัง
ปัญจะมัง อะชะปาละนิโคธัง
ฉัฏฐัง ราชายะตะนัง สัตตะมัง มุจ
จะลินทัง อะหัง วันทามิ ทูระโต

7. ปีมะเมีย ( ม้า )

พระธาตุชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
พระธาตุชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
ปีมะเมีย มีสัญลักษณ์เป็นรูป ม้า พระธาตุนี้จะได้แก่พระธาตุชเวดากอง แห่งเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ (พม่า) เจดีย์นี้มีการต่อเติมมากมายหลายหลัง ทำให้รูปแบบพัฒนาไปเรื่อยๆ
ลักษณะสุดท้ายได้มีลักษณะเป็นศิลปะพม่าอย่างเต็มที่ และมีอายุร่วมสมัยทางศิลปะกับรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากเดิมที่เป็นงานศิลปะมอญร่วมสมัยอยุธยาของเรา
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
สัมมาสัมพุทธะ นะลาตะ
อัฏฐิ จะตุเกสาธาตุยา
คันธะวะ รัง
ฐิตัง ปะระมา
ธาตุ เจติยัง
อะหัง วันทามิ สัพพะธา

8. ปีมะแม ( แพะ )

พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ปีมะแม มีสัญลักษณ์เป็นรูป แพะ พระธาตุประจำปีเกิดปีนี้คือ พระธาตุดอยสุเทพ แห่งวัดพระธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุนี้เป็นพระธาตุสำคัญของเมืองเชียงใหม่
และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนล้านนา ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมจะเป็นแบบล้านนา-เชียงใหม่ ตั้งอยู่บนภูเขา ทำให้เจดีย์ดูงดงามและเด่นชัด
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
สุวัณณะ เจติยัง เกสา
วะระมัตถะลุงคัง วะรัญญะธาตุง
สุเทวะนามะทัง
นะระเทเวหิ
สัพพะปูชิตัง
อะหัง วันทามิ สัพพะ

9. ปีวอก ( ลิง )

พระธาตุพนม จ.นครพนม
พระธาตุพนม จ.นครพนม
ปีวอก มีสัญลักษณ์เป็นรูป ลิง พระธาตุประจำวันเกิดนี้เป็นพระธาตุที่แตกต่างไปจากพระธาตุอื่นๆ ที่กล่าวมา นั่นคือพระธาตุพนม แห่งวัดพระธาตุพนม อำเภอนครพนม จังหวัดนครพนม
พระธาตุนี้เป็นพระธาตุที่มีลักษณะพื้นเมืองของอาณาจักรโคตรบูรณ์โบราณ ได้มีการปรับปรุงมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยอยุธยา ในปีพุทธศักราช 2517 ได้ล้มลง ยังความเศร้าโศกแก่ประชาชนชาวไทย-ลาวเป็นอย่างมาก ต่อมาได้บูรณปฏิสังขรณ์ตามลักษณะเดิมแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2519
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฎฐิมายะ อุปะริมายะ
ทิสายะ กะปะณะสิริส สะมิง
ปัพพะเต กัสสะเปนะ ฐาปิตัง
พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะ มามิ เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง
ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง
อะหัง วันทามิ สัพพะทา

10. ปีระกา ( ไก่ )

พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
ปีระกา มีสัญลักษณ์เป็นรูป ไก่ พระธาตุประจำปีเกิดจะเป็นพระธาตุหริภุญชัย แห่งวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ศิลปกรรมล้านนาสกุลช่างเมืองลำพูนนี้มีทั้งที่เป็นแบบนี้ปรากฏอิทธิพลลพบุรี(ละโว้) และที่มีอิทธิพลเมืองใหม่ ซึ่งวัดพระธาตุหริภุญชัย จะมีลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมในแบบหลัง ซึ่งจะมีลักษณะที่งดงามและลงตัว
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
สุวัณณะเจติยัง หะริ ภุญชะยัฎฐัง
วะระโมลีธารัง อุรัฎฐิ เสฎฐัง
สะหาอังคุลิฎฐิง
กัจจายะเน นะ ฐิตะปัตตัปปะการัง
สีเสนะ มัยหัง ปะระมามิธาตุง

11. ปีจอ ( สุนัข , หมา )

พระธาตุจุฬามณี จ.เชียงใหม่
พระธาตุจุฬามณี จ.เชียงใหม่
ปีจอ มีสัญลักษณ์เป็นรูป สุนัข พระธาตุประจำปีนี้เดิมเป็นพระธาตุจุฬามณี ซึ่งเชื่อกันว่าจะประดิษฐานอยู่บนสวรรค์
มาภายหลังได้มีการสร้างพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีที่วัดเกตุการาม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จึงใช้พระธาตุนี้แทน ศิลปะสถาปัตยกรรมเป็นแบบล้านนารุ่นหลัง
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
ตาวะติงสายะ ปุรัมเม เกสะจุฬา
มะณี สะรีระปัพพะตา ปูชิตา
สัพพะ เทวานัง ตังสิระสา ธาตุ
อุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

12. ปีกุน ( หมู )

พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย
พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย

ปีกุน มีสัญลักษณ์เป็นรูป สุกร แต่สำหรับคนล้านนาจะใช้ ช้าง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยตุงแห่งวัดดอยตุง อำเภอดอยตุง จังหวัดเชียงราย

เมืองเชียงรายเป็นเมืองเก่าแก่ร่วมสมัยกับสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่ มีสัญลักษณ์ล้านนา ผสานอิทธิพลพื้นเมืองปูชนียสถานในเมืองเชียงราย จะมีขนาดไม่ใหญ่ และมักให้ความรู้สึกสงบและสันโดษ ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)
อิมัสสะมิง ภัททะกัปเป จะตุพุทธา พุชฌิต ตะวา กะกุสันธะโกนาคะมะนะ
กัสสะปะ โคตะ มะราชะเคเห จะระติ
ปิณฑายะ มิถิลายะนะ คะเรสิ จะระติ ปิณฑายะ อะตีตาพุทธาเน อิมัสมิง ฐาเนสีทิ สิริสุภะปะวะรัง มังคะลัง ตะโมลากะถามุนิราชัง สาทะรัง นมามิหันตัง วะระชินาธาตุง อะหัง
วันทามิ สัพพะทานะตัง วะชิระ
ธาตุโย อะระหัง วันทามิ สัพพะทา

----------------------------------------

พระธาตุประจำปีเกิด ๑๒ ปีนักษัตร

ตำนานการบูชาพระธาตุ
คำว่า พระธาตุ มีความหมายสองนัยคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่หรือ พระเจดีย์ที่มีพระบรมธาตุบรรจุ โดยแต่ละแห่งจะมีตำนานที่เล่ามูลเหตุการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งสัมพันธ์กับการเสด็จโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าในดินแดนต่างๆ สถานที่ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์ เหล่านี้ มักจะกลายเป็นเมืองสำคัญในเวลาต่อมา
ลักษณะพระบรมธาตุ
ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่บรรยายไว้ในตำนานมีลักษณะเหมือนถั่วแตก หรือข้าวสารหัก หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาด กลมเกลี้ยงขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีสีทองอุไร สีแก้วผลึก หรือแก้วมุกดา สีดอกพิกุล บางองค์มีรูทะลุได้ตามปกติจะบรรจุพระบรมธาตุไว้ใต้ ฐานเจดีย์ หรือเรือนธาตุ โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถนำออกมาได้ เว้นแต่พระธาตุศรีจอมทอง และนอกจากการบูชา พระบรมธาตุของ พระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีการบูชาพระธาตุของพระอรหันต์หรือพระสาวกด้วย
คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด
ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับปีเกิด และการนับอายุของแต่ละคน เป็นที่รับรู้กันแพร่หลาย ในแต่ละปีนักษัตร จึงกำหนดด้วยสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประจำปีเกิด หรือที่เรียกว่า ๑๒ นักษัตร สำหรับในดินแดนภาคเหนือของไทย ความเชื่อเรื่องปี นักษัตรยังสัมพันธ์ กับคติการบูชาพระบรมธาตุ ดังปรากฏเป็นประเพณีการชุธาตุหรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด โดยครั้งหนึ่งใน ชีวิตควรมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน เพื่อความเป็นสิริมงคล
การบูชาพระบรมธาตุ
สมัยโบราณมักจะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอมและข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุ ด้วยน้ำสะอาด อาจเจือด้วยน้ำหอม เนื่องจากพระบรมธาตุส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์ พระธาตุบางองค์จะต้อง ใช้น้ำจากแหล่ง พิเศษ อย่างเช่น การสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง ใช้น้ำจากแม่น้ำกลางเจือด้วยน้ำหอม หรือแก่นจันทน์กล่าว ได้ว่าคติการ บูชาพระธาตุปีเกิด และตำนานที่เกี่ยวข้องสะท้อน ถึงการแพร่ กระจายของพุทธศาสนาในดินแดนไทยมาแต่โบราณ นอกจากนี้การสร้าง พระบรมธาตุเจดีย์ ยังสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนเมืองต่างๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและ วัฒนธรรมร่วมกัน ของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยที่มีกลุ่มชนมากมายอาศัยอยู่ โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง แห่งจิตใจการเดินทาง ท่องเที่ยวไหว้พระธาตุปีเกิดมีความสะดวกอย่างยิ่ง เนื่องจากพระธาตุส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ จึงสามารถจัดเส้นทางสำหรับไหว้พระธาตุในจังหวัดใกล้เคียงได้ เช่น เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง หรือ เชียงราย-น่าน-แพร่ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้อิ่มใจในบุญกุศล ทว่ายังได้ชมศิลปะและ สถาปัตยกรรมอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย
เพราะเหตุใด พระธาตุประจำปีเกิดจึงต้องอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ?
ในสมัยก่อน อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และพม่า ต่างเป็นแว่นแคว้นข้างเคียงที่มีความสัมพันธ์ ทางวัฒนธรรม กันมาก่อน การกำหนดให้มีการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด จึงเป็นกลไก อย่างหนึ่ง ของการเดินทางติดต่อกันทำให้คนแต่ละเมืองที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน มีความสัมพันธ์ ไปมาหาสู่กันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างก็ให้ความสำคัญต่อ พระบรมสารีริกธาตุ หรือ กระดูกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระบรมธาตุ หรือ พระธาตุ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก เป็นเศษส่วนจากพระวรกายที่เหลืออยู่ไม่มากนัก จึงทำให้ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
ในสมัยโบราณ มีการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้เนินดินรูปครึ่งวงกลม แล้วปักฉัตรไว้ด้านบน เพื่อยกย่องและแสดงเกียรติยศของผู้ตายตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศก ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุออกไปบูชายังเมืองต่าง ๆ ทำให้มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุขึ้นทั่วไป โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละ้ท้องถิ่น
สถูปเจดีย์สำคัญของบ้านเมืองต่าง ๆ ล้วนได้รับการอธิบายว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุ ฉะนั้น บางครั้งจึงนิยมเรียกสถูปเจดีย์เหล่านั้นว่า พระธาตุ ซึ่งหมายถึง พระบรมธาตุซึ่งบรรจุอยู่ภาย ในสถูปเจดีย์นั่นเอง
ดังนั้น การไหว้สถูปเจดีย์ ไม่ว่าจะมีรูปทรงงดงามแปลกพิศดารเพียงใดก็ตาม แต่หัวใจของการไหว้ ที่แท้จริงแล้ว ก็คือ การกราบ พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าที่บรรจุอยู่ภายในสิ่งก่อสร้าง เหล่านั้น ดังนั้น การสักการะจึงควรกระทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลศตัณหา และที่สำคัญ ต้องระลึกเสมอว่า พระบรมธาตุไม่ใช่ผู้บันดาลสิ่งต่าง ๆ จึงไม่ควรขอสิ่งใดนอกจากสวัสดิมงคล


( ที่มา : http://www.santidham.com/tatu1st/for%20year.html )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น